๙. เรื่องนางจิญจมาณวิกา [๑๔๕]
[ข้อความเบื้องต้น]
พระศาสดา
เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภนางจิญจมาณวิกา ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า เอกธมฺมมตีตสฺส
เป็นต้น.
[พวกเดียรถีย์ริษยาพระพุทธศาสนา]
ความพิสดารว่า
ในปฐมโพธิกาล เมื่อสาวกของพระทศพลมีมากหาประมาณมิได้,
เมื่อพวกเทวดาและมนุษย์หยั่งลงสู่อริยภูมิ, เมื่อพระคุณสมุทัยของพระศาสดาแผ่ไปแล้ว,
ลาภสักการะเป็นอันมากเกิดขึ้นแล้ว. พวกเดียรถีย์
เป็นผู้เช่นกับแสงหิ่งห้อยในเวลาดวงอาทิตย์ขึ้น เป็นผู้เสื่อมลาภสักการะ.
พวกเดียรถีย์เหล่านั้น ยืนในระหว่างถนน
แม้ประกาศให้พวกมนุษย์รู้แจ้งอยู่อย่างนี้ว่า พระสมณโคดมเท่านั้นหรือ
เป็นพระพุทธเจ้า, แม้พวกเราก็เป็นพระพระพุทธเจ้า;
ทานที่เขาให้แล้วแก่พระสมณโคดมนั้นเท่านั้นหรือ มีผลมาก,
ทานที่เขาให้แล้วแม้แก่เราทั้งหลายก็มีผลมากเหมือนกัน; ท่านทั้งหลาย จงให้ จงทำ
แก่เราทั้งหลายบ้าง ดังนี้แล้ว ไม่ได้ลาภ-สักการะแล้ว ประชุมคิดกันในที่ลับว่า
พวกเรา พึงยังโทษให้เกิดขึ้นแก่พระสมณโคดม ในระหว่างมนุษย์ทั้งหลาย
พึงยังลาภสักการะให้ฉิบหาย โดยอุบายอะไรหนอแล ? กาลนั้น ในกรุงสาวัตถี
มีนางปริพพาชิกาคนหนึ่ง ชื่อว่าจิญจมาณวิกา
เป็นผู้ทรงรูปอันเลอโฉมถึงความเลิศด้วยความงาม เสมือนนางเทพอัปสรฉะนั้น. รัศมีย่อมเปล่งออกจากสรีระของนางนั้น.
[นางจิญจมาณวิการับอาสาพวกเดียรถีย์]
ลำดับนั้น เดียรถีย์ผู้มีความรู้เฉียบแหลมคนหนึ่ง
กล่าวอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายอาศัยนางจิญจมาณวิกา
พึงยังโทษให้เกิดขึ้นแก่พระสมณโคดม ยังลาภสักการะ (ของเธอ) ให้ฉิบหายได้.
เดียรถีย์เหล่านั้น รับรองว่า อุบายนี้ มีอยู่. ต่อมา
นางจิญจมาณวิกานั้นไปสู่อารามของเดียรถีย์ ไหว้แล้วได้ยืนอยู่.
พวกเดียรถีย์ไม่พูดกับนาง. นางจึงคิดว่า เรามีโทษอะไรหนอแล ? แม้พูดครั้งที่ ๓ว่า
พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย ดิฉันไหว้ ดังนี้แล้ว จึงพูดว่า พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย
ดิฉันมีโทษอะไรหนอแล ? เพราะเหตุอะไร ท่านทั้งหลายจึงไม่พูดกับดิฉัน ? เดียรถีย์.
น้องหญิง เจ้าย่อมไม่ทราบซึ่งพระสมณโคดม ผู้เบียดเบียนเราทั้งหลาย
เที่ยวทำเราทั้งหลายให้เสื่อมลาภสักการะหรือ ? นางจิญจมาณวิกา. ดิฉันยังไม่ทราบ
เจ้าข้า, ก็ในเรื่องนี้ดิฉัน ควรทำอย่างไรเล่า ? เดียรถีย์. น้องหญิง
ถ้าเจ้าปรารถนาความสุขแก่เราทั้งหลายไซร้, จงยังโทษให้เกิดขึ้นแก่พระสมณโคดมแล้ว
ยังลาภสักการะให้ฉิบหายเพราะอาศัยตน. นางกล่าวว่า ดีละ พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย,
ข้อนี้จงเป็นภาระของดิฉันเอง, ท่านทั้งหลายอย่าคิดแล้ว ดังนี้แล้ว หลีกไป
ห่มผ้ามีสีดุจแมลงค่อมทอง
มีของหอมและระเบียบดอกไม้เป็นต้นในมือมุ่งหน้าตรงพระเชตวันไปอยู่
ในสมัยเป็นที่ฟังธรรมกถาแห่งชนชาวเมืองสาวัตถีแล้วออกไปจากพระเชตวัน
ตั้งแต่กาลนั้น เพราะความที่นางเป็นผู้ฉลาดในมายาของหญิง, เมื่อผู้อื่นถามว่า
นางจะไปไหนในเวลานี้ ? จึงกล่าวว่า ประโยชน์อะไรของท่านทั้งหลายด้วยที่ที่เราไป
พักอยู่ในวัดของเดียรถีย์ในที่ใกล้พระเชตวัน
เมื่อคนผู้เป็นอุบาสกออกจากพระนครแต่เช้าตรู่ ด้วยหวังว่า
จักถวายบังคมพระผู้มีพระภาค (นาง) ทำทีเหมือนอยู่ในพระเชตวันเข้าไปสู่พระนคร,
เมื่อคนผู้เป็นอุบาสกถามว่า ท่านอยู่ ณ ที่ไหน ?แล้วจึงกล่าวว่า
ประโยชน์อะไรของท่านทั้งหลายด้วยที่ที่เราอยู่ โดยกาลล่วงไป ๑ เดือน ๒ เดือน
เมื่อถูกถามจึงกล่าวว่า เราอยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกันกับพระสมณโคดม ในพระเชตวัน
ยังความสงสัยให้เกิดขึ้นแก่ปุถุชนทั้งหลายว่า ข้อนั้นจริงหรือไม่หนอ ?
โดยกาลล่วงไป ๓-๔ เดือน เอาท่อนผ้าพันท้อง แสดงเพศของหญิงมีครรภ์
ให้เหล่าชนอันธพาลถือเอาว่า ครรภ์บังเกิดขึ้น เพราะอาศัยพระสมณโคดม โดยกาลล่วงไป
๘-๙ เดือน ผูกไม้กลมไว้ที่ท้องห่มผ้าทับข้างบน ให้ทุบหลังมือและเท้าด้วยไม้คางโค
แสดงอาการบวมขึ้นมีอินทรีย์บอบช้ำ เมื่อพระตถาคตประทับนั่งแสดงธรรมบนธรรมาสน์ที่ประดับแล้วในเวลาเย็น,
ไปสู่ธรรมสภา ยืนตรงพระพักตร์ของพระตถาคตแล้วกล่าวว่า มหามรณะ พระองค์ (ดีแต่)
แสดงธรรม แก่มหาชนเท่านั้น, เสียงของพระองค์ไพเราะ, พระโอษฐ์ของพระองค์สนิท;
ส่วนหม่อมฉัน อาศัยพระองค์ได้เกิดมีครรภ์ครบกำหนดแล้ว, พระองค์ไม่ทรงทราบเรือนเป็นที่คลอดของหม่อมฉัน,
ไม่ทรงทราบเครื่องครรภบริหารมีเนยใสและน้ำมันเป็นต้น. เมื่อไม่ทรงทำเอง
ก็ไม่ตรัสบอกพระเจ้าโกศล หรืออนาถบิณฑิกะ หรือนางวิสาขามหาอุบาสิกา คนใดคนหนึ่ง
แม้บรรดาอุปัฏฐากทั้งหลายว่า ท่านจงทำกิจที่ควรทำแก่นางจิญจมาณวิกานี้, พระองค์ทรงรู้แต่จะอภิรมย์เท่านั้น,
ไม่ทรงรู้ครรภบริหาร เป็นเหมือนพยายามจับก้อนคูถปามณฑลพระจันทร์ฉะนั้น
ด่าพระตถาคตในท่ามกลางบริษัทแล้ว. พระตถาคต ทรงงดธรรมกถาแล้ว
เมื่อจะทรงบันลือเยี่ยงอย่างสีหะ จึงตรัสว่า น้องหญิง ความที่คำอันเจ้ากล่าวแล้ว
จะจริงหรือไม่ เราและเจ้าเท่านั้น ย่อมรู้. นางจิญจมาณวิกา. อย่างนั้น มหาสมณะ
ข้อนั้น เกิดแล้วโดยความที่ท่านและหม่อมฉันทราบแล้ว.
[เทพบุตรทำลายกลอุบายของนางจิญจมาณวิกา]
ขณะนั้น
อาสนะของท้าวสักกะแสดงอาการร้อน. ท้าวเธอทรงใคร่ครวญอยู่ ก็ทราบว่า นางจิญจมาณวิกา
ย่อมด่าพระตถาคตด้วยคำไม่เป็นจริงแล้วทรงดำริว่า เราจักชำระเรื่องนี้ให้หมดจด
จึงเสด็จมากับเทพบุตร ๔ องค์.
เทพบุตรทั้งหลายแปลงเป็นลูกหนูกัดเชือกที่ผูกท่อนไม้กลม
ด้วยอันแทะทีเดียวเท่านั้น. ลมพัดเวิกผ้าห่มขึ้น.
ไม่กลมพลัดตกลงบนหลังเท้าของนางจิญจมาณวิกานั้น. ปลาย เท้าทั้ง ๒ ข้างแตกแล้ว.
มนุษย์ทั้งหลายก็พูดว่า แน่ะนางกาลกัณณีเจ้าด่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ถ่มเขฬะลงบนศีรษะ มีมือถือก้อนดินและท่อนไม้ ฉุดลากออกจากพระเชตวัน.
[นางจิญจมาณวิกาถูกแผ่นดินสูบ]
ครั้นในเวลานางล่วงคลองพระเนตรของพระตถาคตไป
แผ่นดินใหญ่แตกแยกให้ช่องแล้ว. เปลงไฟตั้งขึ้นจากอเวจี. นางจิญจ-มาณวิกานั้น
ไปเกิดในอเวจี เป็นเหมือนห่มผ้ากัมพลที่ตระกูลให้.
ลาภสักการะของพวกอัญญเดียรถีย์เสื่อมแล้ว. (แต่กลับ)
เจริญแก่พระทศพลโดยประมาณยิ่ง. ในวันรุ่งขึ้น พวกภิกษุสนทนากันในธรรมสภาว่า
ผู้มีอายุทั้งหลาย นางจิญจมาณวิกาด่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ควรทักษิณาอันเลิศ
ผู้มีคุณอันยิ่งอย่างนี้ ด้วยคำไม่จริง จึงถึงความพินาศใหญ่แล้ว. พระศาสดาเสด็จมา
ตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งประชุมกันด้วยถ้อยคำอะไรหนอ ?
เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ด้วยถ้อยคำชื่อนี้, แล้วตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย
บัดนี้เท่านั้นหามิได้, ถึงในกาลก่อน นางจิญจมาณวิกานั่น ก็ด่าเราด้วยคำไม่จริง
ถึงความพินาศแล้วเหมือนกัน ดังนี้แล้ว จึงตรัสมหาปทุมชาดก๑ในทวาทสนิบาตนี้ให้พิสดารว่า
:- ผู้เป็นใหญ่ไม่เห็นโทษน้อยใหญ่ ของผู้อื่นโดยประการทั้งปวงแล้ว
ไม่ทันพิจารณาเห็นเอง ไม่ พึงลงอาชญา.
[พระโพธิสัตว์ถูกทิ้งลงในเหวแต่ไม่ตาย]
(พระองค์ตรัสว่า) ได้ยินว่า ในกาลนั้น
นางจิญจมาณวิกานั้น เป็นผู้ร่วมสามีของพระมารดาของพระโพธิสัตว์
ทรงนามว่ามหาปทุมกุมาร เป็นอัครมเหสีของพระราชา เชิญชวนพระมหาสัตว์ด้วยอสัทธรรม
ไม่ได้ความยินยอมของพระโพธิสัตว์นั้นแล้วทำประการแปลกในตนด้วยตนเอง
แสดงอาการลวงว่าเป็นไข้ จึงกราบทูลแด่พระราชาว่า พระราชโอรสของพระองค์
ยังหม่อมฉันผู้ไม่ปรารถนาอยู่ ให้ถึงประการแปลกนี้. พระราชากริ้ว
ทิ้งพระมหาสัตว์ไปในเหวเป็นที่ทิ้งโจร. ลำดับนั้น เทวดาผู้สิงอยู่ในท้องแห่งภูเขา
(หุบเขา) รับพระมหาสัตว์นั้นแล้ว ให้ประดิษฐานอยู่ในห้องพังพาน ของพระยานาค.
พระยานาคนำพระมหานัตว์นั้นไปสู่ภพนาค ทรงรับรองด้วยราชสมบัติกึ่งหนึ่ง.
พระมหาสัตว์นั้นอยู่ในภพนาคนั้นสิ้นปีหนึ่ง ใคร่จะบวช จึงมาสู่หิมวันตประเทศ
บวชแล้ว ให้ฌานและอภิญญาบังเกิดแล้ว.
[พระโพธิสัตว์ถวายพระโอวาทแก่พระราชา]
ต่อมา
พรานไพรผู้หนึ่งเห็นพระมหาสัตว์นั้นแล้ว จึงกราบทูลแด่พระราชา.
พระราชาเสด็จไปสู่สำนักของพระมหาสัตว์นั้นแล้ว มีปฏิสันถารอันพระมหาสัตว์ทำแล้ว
ทรงทราบประพฤติเหตุนั้นทั้งหมดทรงเชื้อเชิญพระมหาสัตว์ด้วยราชสมบัติ อันพระมหาสัตว์นั้นถวาย
โอวาทว่า กิจด้วยราชสมบัติของหม่อมฉันไม่มี, ก็พระองค์จงอย่าให้ราชธรรม ๑๐
ประการกำเริบ ทรงละการถึงอคติเสียแล้ว เสวยราชสมบัติโดยธรรมเถิด ดังนี้แล้ว
เสด็จลุกจากอาสนะ ทรงกันแสง เสด็จไปสู่พระนคร จึงตรัสถามอำมาตย์ทั้งหลายในระหว่าง
หนทางว่า เราถึงความพลัดพรากจากบุตรซึ่งสมบูรณ์ด้วยอาจาระอย่างนี้เพราะอาศัยใคร ?
อำมาตย์. เพราะอาศัยพระอัครมเหสี พระเจ้าข้า. พระราชา
รับสั่งให้จับพระอัครมเหสีนั้นให้มีเท้าขึ้นแล้ว ทิ้งไปในเหวที่ทิ้งโจร
เสด็จเข้าไปสู่พระนคร เสวยราชสมบัติโดยธรรม. มหาปทุมกุมารในกาลนั้น
ได้เป็นพระมหาสัตว์, หญิงร่วมสามีของพระมารดา ได้เป็นนางจิญจมาณวิกา. พระศาสดา
ครั้นทรงประกาศเนื้อความนี้แล้วตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ก็ขึ้นชื่อว่าบาปกรรม
อันบุคคลผู้ละคำสัตย์ซึ่งเป็นธรรมอย่างเอกแล้ว ตั้งอยู่ในมุสาวาท
ผู้มีปรโลกอันสละแล้ว ไม่พึงทำย่อมไม่มี ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :- บาปอันชนผู้ก้าวล่วงธรรมอย่างเอกเสีย
ผู้มัก พูดเท็จ ผู้มีปรโลกอันล่วงเลยเสียแล้ว ไม่พึงทำ ย่อมไม่มี.
[แก้อรรถ]
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอกธมฺม คือ
ซึ่งคำสัตย์.
บทว่า มุสาวาทิสฺส ความว่า บรรดาคำพูด ๑๐ คำ
คำสัตย์แม้สักคำหนึ่ง ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด, อันผู้เห็นปานนี้ ชื่อว่าผู้มักพูดเท็จ.
บาทพระคาถาว่า วิติณฺณปรโลกสฺส ได้แก่
ผู้มีปรโลกอันปล่อยเสียแล้ว. ก็บุคคลเห็นปานนี้ ย่อมไม่พบสมบัติ ๓ อย่างเหล่านี้
คือ มนุษยสมบัติเทพสมบัติ นิพพานสมบัติในอวสาน.
สองบทว่า นตฺถิ ปาป ความว่า
ความสงสัยว่าบาปชื่อนี้ อันบุคคลนั้น คือผู้เห็นปานนั้น ไม่พึงทำดังนี้ ย่อมไม่มี.
ในเวลาจบเทศนา ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย
มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.
เรื่องนางจิญจมาณวิกา จบ.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น