วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

เผด็จเรื่องโพธิราชกุมาร (ภาค๖)




๑๒. อัตตวรรค วรรณนา

๑. เรื่องโพธิราชกุมาร [๑๒๗]

[ข้อความเบื้องต้น]

 พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในเภสกฬาวัน ทรงปรารภโพธิราชกุมาร ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อตฺตานฺเจ เป็นต้น.

[โพธิราชกุมารสร้างปราสาทแล้วคิดฆ่านายช่าง]

 ดังได้สดับมา โพธิราชกุมารนั้น รับสั่งให้สร้างปราสาท ชื่อโกนนท มีรูปทางไม่เหมือนปราสาทอื่น ๆ บนพื้นแผ่นดิน ปานดั่งลอยอยู่ในอากาศแล้วตรัสถามนายช่างว่า ปราสาทที่มีรูปทรงอย่างนี้เธอเคยสร้างในที่อื่นบ้างแล้วหรือ ?, หรือว่านี้เป็นศิลปะครั้งแรกของเธอทีเดียว. เมื่อเขาทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ นี้เป็นศิลปะครั้งแรกทีเดียว. ท้าวเธอทรงดำริว่า ถ้านายช่างผู้นี้จักสร้างปราสาทมีรูปทรงอย่างนี้แม้แก่คนอื่นไซร้, ปราสาทนี้ก็จักไม่น่าอัศจรรย์; การที่เราฆ่านายช่างนี้เสีย หรือตัดมือและเท้าของเขา หรือควักนัยน์ตาทั้ง ๒ เสีย ควร; เมื่อเป็นเช่นนั้น เขาจักสร้างปราสาทแก่คนอื่นไม่ได้ ท้าวเธอตรัสบอกความนั้น แก่มาณพน้อยบุตรของสัญชีวก ผู้เป็นสหายที่รักของตน.

[นายช่างทำนกครุฑขี่หนีภัย]

 มาณพน้อยนั้นคิดว่า พระราชกุมารพระองค์นี้ จักผลาญนายช่างให้ฉิบหายอย่างไม่ต้องสงสัย, คนผู้มีศิลปะเป็นผู้หาค่ามิได้, เมื่อเรายังมีอยู่ เขาจงอย่าฉิบหาย, เราจักให้สัญญาแก่เขา. มาณพน้อยนั้นเข้าไปหาเขาแล้ว ถามว่า การงานของท่านที่ปราสาทสำเร็จแล้วหรือยัง ? เมื่อเขาบอกว่า สำเร็จแล้ว, จึงกล่าวว่า พระราชกุมารมีพระประสงค์จะผลาญท่านให้ฉิบหาย, เพราะฉะนั้น ท่านพึงรักษาตน (ให้ดี). นายช่างพูดว่า นาย ท่านบอก (ความนั้น) แก่ข้าพเจ้าทำกรรมอันงามแล้ว, ข้าพเจ้าจักทราบกิจที่ควรทำในเรื่องนี้ ดังนี้แล้วอันพระราชกุมารตรัสถามว่า สหาย การงานของท่านที่ปราสาทของเราสำเร็จแล้วหรือ ? จึงทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ การงาน(ที่ปราสาท) ยังไม่สำเร็จก่อน, ยังเหลืออีกมาก.

ราชกุมาร. ชื่อว่าการงานอะไร ? ยังเหลือ.

นายช่าง. ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์จักทูล (ให้ทรงทราบ)ภายหลัง, ขอพระองค์จงตรัสสั่งให้ใคร ๆ ขนไม้มาก่อนเถิด.

ราชกุมาร. จะให้ขนไม้ชนิดไหนเล่า ?

นายช่าง. ไม้แห้งหาแก่นมิได้ พระเจ้าข้า. ท่าวเธอ ได้รับสั่งให้ขนมาให้แล้ว. ลำดับนั้น นายช่างทูลพระราชกุมารนั้นว่า ข้าแต่สมมติเทพ จำเดิมแต่นี้ พระองค์ไม่พึงเสด็จมายังสำนักของข้าพระองค์ เพราะเมื่อข้าพระองค์ ทำการงานที่ ละเอียดอยู่ เมื่อมีการสนทนากับคนอื่น ความฟุ้งซ่านก็จะมี, อนึ่งเวลารับประทานอาหาร ภรรยาของข้าพระองค์เท่านั้น จักนำอาหารมา. พระราชกุมารทรงรับว่า ดีแล้ว. ฝ่ายนายช่างนั่งถากไม้เหล่านั้นอยู่ในห้อง ๆ หนึ่ง ทำเป็นนกครุฑ ควรที่บุตรภรรยาของตนนั่งภายในได้ ในเวลารับประทานอาหาร สั่งภรรยาว่า หล่อนจงขายของทุกสิ่งอันมีอยู่ในเรือนแล้ว รับเอาเงินและทองไว้.

[นายช่างพาครอบครัวหนี]

 ฝ่ายพระราชกุมาร รับสั่งให้ล้อมเรือนไว้ ทรงจัดตั้งการรักษาเพื่อประโยชน์จะไม่ให้นายช่างออกไปได้. แม้นายช่าง ในเวลาที่นกสำเร็จแล้ว สั่งภรรยาว่า วันนี้ หล่อนพึงพาเด็ก แม้ทั้งหมดมารับประทานอาหารเช้าเสร็จแล้ว ให้บุตรและภรรยานั่งในท้องนกออกทางหน้าต่างหลบหนีไปแล้ว. นายช่างนั้น เมื่อพวกอารักขาเหล่านั้น ทูลพิไรร่ำว่า ขอเดชะสมมติเทพ นายช่างหลบหนีไปได้ ดังนี้อยู่นั่นแหละ ก็ไปลงที่หิมวันตประเทศ สร้างนครขึ้นนครหนึ่ง ได้เป็นพระราชา ทรงพระนามว่า กัฏฐาหนะ ในนครนั้น.

[พระศาสดาไม่ทรงเหยียบผ้าที่ลาดไว้]

 ฝ่ายพระราชกุมาร ทรงดำริว่า เราจักทำการฉลองปราสาท จึงนิมนต์พระศาสดา ทรงทำการประพรมในปราสาทด้วยของหอมที่ผสมกัน ๔ อย่าง ทรงลาดแผ่นผ้าน้อย ตั้งแต่ธรณีแรก. ได้ยินว่า ท้าวเธอไม่มีพระโอรส. เพราะฉะนั้น จึงทรงดำริว่า ถ้าเราจักได้บุตรหรือธิดาไซร้, พระศาสดาจักทรงเหยียบแผ่นผ้าน้อยนี้แล้วจึงทรงลาด. ท้าวเธอ เมื่อพระศาสดาเสด็จมา ถวายบังคมพระศาสดาด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้ว รับบาตร กราบทูลว่า ขอเชิญพระองค์เสด็จเข้าไปเถิด พระเจ้าข้า. พระศาสดาไม่เสด็จเข้าไป. ท้าวเธอทรงอ้อนวอนถึง ๒-๓ ครั้ง. พระศาสดาก็ยังไม่เสด็จเข้าไปทรงแลดูพระอานนทเถระ. พระเถระทราบความที่ไม่ทรงเหยียบผ้าทั้งหลาย ด้วยสัญญาที่พระองค์ทรงแลดูนั่นเอง จึงทูลให้พระราชกุมารเก็บผ้าทั้งหลายเสียด้วยคำว่า พระราชกุมาร ขอพระองค์จงทรงเก็บผ้าทั้งหลายเสียเถิด, พระผู้มีพระภาคจักไม่ทรงเหยียบแผ่นผ้า, (เพราะ) พระตถาคตทรงเล็งดูหมู่ชนผู้เกิดภายหลัง.

[พระศาสดาตรัสเหตุที่ไม่ทรงเหยียบผ้า]

 ท้าวเธอทรงเก็บผ้าทั้งหลายแล้ว ทูลอาราธนาพระศาสดาให้เสด็จเข้าไปภายใน ทรงอังคาสให้อิ่มหนำด้วยยาคูและของเคี้ยวแล้วประทับนั่งอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง ถวายบังคมแล้ว ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญหม่อมฉันเป็นอุปัฏฐากของพระองค์ ถึง (พระองค์) ว่าเป็นที่พึ่ง ๓ ครั้งแล้ว (คือ) นัยว่า ข้าพระองค์อยู่ในท้อง ถึง (พระองค์) ว่าเป็นที่พึ่งครั้งที่ ๑ แม้ครั้งที่ ๒ ในเวลาที่หม่อมฉันเป็นเด็กรุ่นหนุ่ม, แม้ครั้ง ที่ ๓ ในกาลที่หม่อมฉัน ถึงความเป็นผู้รู้ดีรู้ชั่ว; พระองค์ไม่ทรงเหยียบแผ่นผ้าน้อยของหม่อมฉันนั้น เพราะเหตุอะไร ? พระศาสดา. ราชกุมาร ก็พระองค์ทรงดำริอย่างไร ? จึงทรงลาดแผ่น ผ้าน้อย.

ราชกุมาร. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันคิดดังนี้ว่า ถ้าเราจักได้บุตรหรือธิดาไซร้, พระศาสดาจักทรงเหยียบแผ่นผ้าน้อยของเรา, แล้วจึงลาดแผ่นผ้าน้อย.

พระศาสดา. ราชกุการ เพราะเหตุนั้น อาตมภาพจึงไม่เหยียบ.

 ราชกุมาร. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็หม่อมฉันจักไม่ได้บุตรหรือธิดาเลยเทียวหรือ ?

พระศาสดา. อย่างนั้น ราชกุมาร.

ราชกุมาร. เพราะเหตุไร ? พระเจ้าข้า.

พระศาสดา. เพราะความที่พระองค์กับพระชายา เป็นผู้ถึงความประมาทแล้วในอัตภาพก่อน.

ราชกุมาร. ในกาลไหน ? พระเจ้าข้า.

[บุรพกรรมของโพธิราชกุมาร]

 ลำดับนั้น พระศาสดาทรงนำอดีตนิทาน มาแสดงแด่พระราชกุมารนั้น :- ดังได้สดับมา ในอดีตกาล มนุษย์หลายร้อยคนแล่นเรือลำใหญ่ไปสู่สมุทร. เรืออัปปางในกลางสมุทร สองภรรยาสามี คว้าได้แผ่น กระดานแผ่นหนึ่ง (อาศัย) ว่ายเข้าไปสู่เกาะน้อยอันมีในระหว่าง. มนุษย์ที่เหลือทั้งหมดตายในสมุทรนั้นนั่นแล. ก็หมู่นกเป็นอันมากอยู่ที่ เกาะนั้นแล เขาทั้ง ๒ ไม่เห็นสิ่งอื่นที่ควรกินได้ ถูกความหิวครอบงำแล้ว จังเผาฟองนกทั้งหลาย ที่ถ่านเพลิงแล้วเคี้ยวกิน, เมื่อฟองนกเหล่านั้น ไม่เพียงพอ, ก็จับลูกนกทั้งหลายปิ้งกิน, เมื่อลูกนกเหล่านั้นไม่เพียงพอ, ก็จับนกทั้งหลาย(ปิ้ง) กิน, ในปฐมวัยก็ดี มัชฌิมวัยก็ดีปัจฉิมวัยก็ดี ก็ได้เคี้ยวกินอย่างนี้แหละ, แม้ในวัยหนึ่ง ก็มิได้ถึงความไม่ประมาท. อนึ่ง บรรดาชน ๒ คนนั้น แม้คนหนึ่งไม่ได้ถึงความไม่ประมาท.

[พึงรักษาตนไว้ให้ดีในวัยทั้ง ๓]

 พระศาสดา ครั้งทรงแสดงบุรพกรรมนี้ ของโพธิราชกุมารนั้นแล้วตรัสว่า ราชกุมาร ก็ในกาลนั้น ถ้าพระองค์กับภรรยา จักถึงความไม่ประมาท แม้ในวัย ๑ ไซร้, บุตรหรือธิดา พึงเกิดขึ้นแม้ในวัย ๑; ก็ถ้าบรรดาท่านทั้ง ๒ แม้คนหนึ่ง จักได้เป็นผู้ไม่ประมาทแล้วไซร้. บุตรหรือธิดา จักอาศัยผู้ไม่ประมาทนั้นเกิดขึ้น, ราชกุมารก็บุคคลเมื่อสำคัญตนว่า เป็นที่รักอยู่ พึงไม่ประมาท รักษาตนแม้ในวันทั้ง ๓: เมื่อไม่อาจ (รักษา) ได้อย่างนั้น พึงรักษาให้ได้แม้ในวัย ๑ ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :- ถ้าบุคคลทราบตนว่า เป็นที่รัก พึงรักษาตนนั้น ให้เป็นอันรักษาด้วยดี, บัณฑิตพึงประคับประคอง (ตน) ตลอดยามทั้ง ๓ ยามใดยามหนึ่ง.

[แก้อรรถ]

 บรรดาบทเหล่านั้น ในบทว่า ยาม นี้ พระศาสดาทรงแสดงทำวัยทั้ง ๓ วัยใดวัยหนึ่งให้ชื่อว่า ยาม เพราะความที่พระองค์ทรงเป็นใหญ่ในธรรมและเพราะความที่พระองค์ทรงฉลาดในเทศนาวิธี. เพราะเหตุนั้น ในพระคาถานี้ บัณฑิตพึงทราบเนื้อความอย่างนี้ว่า ถ้าบุคคลทราบตนว่า เป็นที่รัก, พึงรักษาตนนั้น ให้เป็นอันรักษาดีแล้ว; คือพึงรักษาตนนั้น โดยประการที่ตนเป็นอันรักษาดีแล้ว. บรรดาชนผู้รักษาตนเหล่านั้น ถ้าผู้เป็นคฤหัสถ์คิดว่า จักรักษาตน, ดังนี้แล้ว เข้าไปสู่ห้องที่เขาปิดไว้ให้เรียบร้อย เป็นผู้มีอารักขาสมบูรณ์ อยู่บนพื้นปราสาทชั้นบนก็ดี, ผู้เป็นบรรพชิต อยู่ในถ้ำอันปิดเรียบร้อย มีประตูและหน้าต่างอันปิดแล้วก็ดี ยังไม่ชื่อว่า รักษาตนเลย. แต่ผู้เป็นคฤหัสถ์ ทำบุญทั้งหลายมีทานศีลเป็นต้นตามกำลังอยู่, หรือผู้เป็นบรรพชิต ถึงความขวนขวายในวัตร ปฏิวัตร ปริยัติและการทำไว้ในใจอยู่ ชื่อว่าย่อมรักษาตน. บุรุษผู้เป็นบัณฑิต เมื่อไม่อาจ(ทำ)อย่างนั้นได้ใน ๓ วัย(ต้อง) ประคับประคองตนไว้ แม้ในวัยใดวัยหนึ่งก็ได้เหมือนกัน. ก็ถ้าผู้เป็นคฤหัสถ์ ไม่อาจทำกุศลได้ในปฐมวัย เพราะความเป็นผู้หมกมุ่นอยู่ในการเล่นไซร้, ในมัชฌิมวัย พึงเป็นผู้ไม่ประมาทบำเพ็ญกุศล. ถ้าในมัชฌิมวัย ยังต้องเลี้ยงบุตรและภรรยา ไม่อาจบำเพ็ญกุศลได้ไซร้, ในปัจฉิมวัย พึงบำเพ็ญกุศลให้ได้. ด้วยอาการแม้อย่างนี้ ตนต้องเป็นอันเขาประคับประคองแล้วทีเดียว. แต่เมื่อเขาไม่ทำอย่างนั้น ตน ย่อมชื่อว่า ไม่เป็นที่รัก. ผู้นั้น (เท่ากับ) ทำตนนั้น ให้มีอบายเป็นที่ไปในเบื้องหน้าทีเดียว. ก็ถ้าว่า บรรพชิต ในปฐมวัย ทำการสาธยายอยู่ ทรงจำ บอกทำวัตรและปฏิวัตรอยู่ ชื่อว่าถึง ความประมาท, ในมัชฌิมวัยพึงเป็นผู้ไม่ประมาท บำเพ็ญสมณธรรม. อนึ่ง ถ้ายังสอบถามอรรถกถาและวินิจฉัยและเหตุแห่งพระปริยัติอันตนเรียนแล้วในปฐมวัยอยู่ ชื่อว่าถึงความประมาท ในมัชฌิมวัย. ในปัจฉิมวัย พึงเป็นผู้ไม่ประมาทบำเพ็ญสมณธรรม. ด้วยอาการแม้อย่างนี้ ตนย่อมเป็นอันบรรพชิตนั้น ประคับประคองแล้วทีเดียว. แต่เมื่อไม่ทำอย่างนั้น ตนย่อมชื่อว่า ไม่เป็นที่รัก, บรรพชิตนั้น (เท่ากับ) ทำตนนั้นให้เดือดร้อน ด้วยการตามเดือดร้อนในภายหลังแท้.

ในกาลจบเทศนา โพธิราชกุมาร ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว. พระธรรมเทศนาได้สำเร็จประโยชน์ แม้แก่บริษัทที่ประชุมกันแล้วดังนี้แล.

เรื่องโพธิราชกุมาร จบ.


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น