[พระศาสดาประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ๒๕ พรรษา]
ในสมัยนั้น พระศาสดาทรงประกาศพระบวรธรรมจักรให้เป็นไปแล้ว เสด็จไปโดยลำดับ ประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ที่ท่านอนาถบิณฑิกมหาเศรษฐี บริจาคทรัพย์นับได้ ๕๔ โกฏิสร้างถวาย, ทรงสั่งสอนมหาชนให้ตั้งอยู่ในทางสวรรค์และในทางนิพพาน. แท้จริง พระตถาคตเสด็จอยู่จำพรรษา ๆ เดียวเท่านั้นในนิโครธมหาวิหารที่พระญาติวงศ์ฝ่ายพระชนนี ๘ หมื่นตระกูล, ฝ่ายพระชนก ๘หมื่นตระกูล เข้ากันเป็นแสนหกหมื่นตระกูลสร้างถวาย, เสด็จอยู่จำพรรษา ณ เชตวันมหาวิหาร ที่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวาย ๑๙ พรรษา, เสด็จจำพรรษา ณ บุพพารามที่นางวิสาขามหาอุบาสิกา บริจาคทรัพย์นับได้ ๒๗ โกฏิสร้างถวาย ๖ พรรษา, ทรงอาศัยที่ตระกูลทั้ง๑ ๒เป็นผู้ใหญ่โดยคุณธรรม เสด็จอยู่จำพรรษาอาศัยกรุงสาวัตถี (เป็นโคจรคาม) ถึง ๒๕ พรรษา ด้วยประการฉะนี้.
[ผู้บำรุงภิกษุสามเณร]
อนาถปิณฺฑิโกปิ วิสาขาปิ มหาอุปาสิกา นิพทฺธํ ทิวสสฺส ทฺเว วาเร ตถาคตสฺส อุปฏฺฐานํ คจฺฉนฺติ คจฺฉนฺตา จ “ทหรสามเณรา โน หตฺเถ โอโลเกสฺสนฺตี”ติ ตุจฺฉหตฺถา น คตปุพฺพา. ปุเรภตฺตํ คจฺฉนฺตา ขาทนียโภชนียาทีนิ คเหตฺวาว คจฺฉนฺติ ปจฺฉาภตฺตํ คจฺฉนฺตา ปญฺจ เภสชฺชานิ อฏฺฐ จ ปานานิ. นิเวสเนสุ ปน เตสํ ทฺวินฺนํ ทฺวินฺนํ ภิกฺขุสหสฺสานํ นิจฺจํ ปญฺญตฺตาสนาเนว โหนฺติ. อนฺนปานเภสชฺเชสุ โย ยํ อิจฺฉติ ตสฺส ตํ ยถิจฺฉิตเมว สมฺปชฺชติ.
ทั้งท่านอนาถบิณฑิกมหาเศรษฐี ทั้งวิสาขามหาอุบาสิกาย่อมไปสู่ที่อุปัฏฐากพระตถาคตเจ้าวันละ ๒ ครั้งเป็นประจำ. และเมื่อไปไม่เคยมีมือเปล่าไป ด้วยคิดเกรงว่า ภิกษุหนุ่มและสามเณร จักแลดูมือตน. เมื่อไปก่อนเวลาฉันอาหาร ย่อมใช้ให้คนถือของขบเคี้ยวเป็นต้นไป, เมื่อไปภายหลังแต่เวลาฉันอาหาร ใช้ให้คนถือปัญจเภสัช และอัฐบานไป. และในเคหสถานแห่งท่านทั้ง ๒นั้น เขาแต่งอาสนะไว้เพื่อภิกษุแห่งละ ๒ พันรูปเป็นนิตยกาล. พระภิกษุรูปใด ปรารถนาของสิ่งใด จะเป็นข้าวน้ำหรือเภสัช ของนั้นก็สำเร็จแก่พระภิกษุรูปนั้นสมปรารถนา.
[เศรษฐีไม่เคยทูลถามปัญหา]
ในท่านทั้งสองนั้น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ไม่เคยทูลถามปัญหาต่อพระศาสดา จนวันเดียว. ได้ยินว่า ท่านคิดว่า พระตถาคตเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าผู้ละเอียดอ่อน เป็นกษัตริย์ผู้ละเอียดอ่อน เมื่อทรงแสดงธรรมแก่เรา ด้วยทรงพระดำริว่า คฤหบดีมีอุปการะแก่เรามาก ดังนี้ จะทรงลำบากแล้วไม่ทูลถามปัญหาด้วยความรักในพระศาสดาเป็นอย่างยิ่ง. ฝ่ายพระศาสดา พอท่านเศรษฐีนั่งแล้ว ทรงพระพุทธดำริว่า เศรษฐีนี้รักษาเราในที่ไม่ควรรักษา, เหตุว่าเราได้ตัดศีรษะของเราอันประดับประดาแล้ว ควักดวงตาของเราออกแล้ว ชำแหละเนื้อหัวใจของเราแล้ว สละลูกเมียผู้เป็นที่รักเสมอด้วยชีวิตของเราแล้ว บำเพ็ญบารมีอยู่ ๔ อสงไขยกับแสนกัลป์ ก็บำเพ็ญแล้วเพื่อแสดงธรรมแก่ผู้อื่นเท่านั้น เศรษฐีนี่รักษาเราในที่ไม่ควรรักษา, (ครั้นทรงพุทธดำริ) ฉะนี้แล้ว ก็ตรัสพระธรรมเทศนากัณฑ์หนึ่งเสมอ.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น